ข้าวมันไก่ อาจปนเปื้อนอหิวาต์เทียม ถ้าเลือดไก่ไม่สุก
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
อหิวาต์เทียม คือ เชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบได้ในอาหารทะเล แต่ล่าสุดกลับพบการปนเปื้อนในเลือดไก่ ที่เสิร์ฟมาพร้อมกับข้าวมันไก่ ถือเป็นครั้งแรกของโลก งั้นต้องระวังกันหน่อยแล้ว
เรื่องไก่ ๆ กลายเป็นปัญหาปากท้องของคนเดินดินกินข้าวแกงซะอย่างนั้น เมื่อเมนูที่หาซื้อง่ายตามท้องถนนหนทางอย่าง "ข้าวมันไก่" เป็นตัวการที่ทำให้ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ และหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือป่วยด้วยอาการท้องร่วง ท้องเสีย อาเจียน อาหารเป็นพิษ ซึ่งภายหลังกระทรวงสาธารณสุขตรวจพบว่า "เชื้ออหิวาต์เทียม" ในเลือดไก่ดิบที่เสิร์ฟมากับจานข้าวมันไก่นั่นเอง
ฟังอย่างนี้แล้ว คนที่ชอบทานข้าวมันไก่อย่าเพิ่งตื่นตระหนกไป เพราะจริง ๆ แล้ว เรายังสามารถทานข้าวมันไก่ได้ แต่ต้องตรวจสอบสักนิด ก่อนอื่นต้องไปทำความรู้จักกับ "อหิวาต์เทียม" กันหน่อย
อหิวาต์เทียม คืออะไร?
เชื้ออหิวาต์เทียม หรือเชื้อวิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับอหิวาตกโรค แต่เป็นคนละสายพันธุ์ และมีความรุนแรงน้อยกว่ามาก ชอบอาศัยอยู่ในน้ำทะเลและน้ำกร่อย จึงมักพบเชื้อนี้ในอาหารทะเลหลายชนิด เช่น ปู กุ้ง หอยแมลงภู่ หอยแครงที่ลวกไม่สุก และก็เป็นคำตอบที่ว่าทำไมหลายคนทานอาหารทะเลที่ปรุงไม่สุกแล้วถึงมีอาการอาหารเป็นพิษ เพราะฤทธิ์ของแบคทีเรียชนิดนี้จะไปทำให้ทางเดินอาหารอักเสบนั่นเอง
และอย่างที่บอกว่า เชื้ออหิวาต์เทียมนี้มักพบในอาหารทะเล ดังนั้นการพบเชื้ออหิวาต์เทียมในเลือดไก่ที่ถือเป็นครั้งแรกของโลก จึงสร้างความฉงนให้วงการแพทย์มากทีเดียว และต้องตรวจสอบต่อไปว่า เชื้ออหิวาต์เทียมไปปนเปื้อนในเลือดไก่ได้อย่างไรกัน? โดยคาดว่าต้นตอการปนเปื้อนมาจากโรงงานเชือดไก่ในพื้นที่ที่ระบาด
อาการป่วยจากเชื้ออหิวาต์เทียม รุนแรงแค่ไหน?
เมื่อติดเชื้ออหิวาต์เทียมแล้ว คนนั้นจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องร่วง บางคนก็เป็นไข้ หนาวสั่นร่วมด้วย อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร แต่ก็สามารถหายได้เองภายใน 3 วัน และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำคือ น้อยกว่า 1 ต่อ 1,000
ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ รักษาอย่างไร?
หากมีอาการอาหารเป็นพิษเกิดขึ้น กรมควบคุมโรคก็แนะนำให้ดูแลผู้ป่วยดังนี้
1. ให้สารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส รวมทั้งดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
2. ให้ทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าว หรือแกงจืด แต่ห้ามงดอาหาร
3. หากผู้ป่วยเป็นเด็กทารก สามารถให้นมแม่ได้ แต่หากเด็กดื่มนมผสมให้ผสมเหมือนเดิม แต่ลดปริมาณลง และให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร
4. ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น
โดยปกติแล้วอาการจะดีขึ้นได้เอง แต่ถ้า 3 วันแล้วยังไม่ดีขึ้น ขอให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ทันที โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ไม่ต้องตกใจ ! เลือดไก่-ข้าวมันไก่ ยังกินได้
แม้จะมีการพบว่าเชื้ออหิวาต์เทียมปนมากับเลือดไก่ แต่กรมควบคุมโรคก็ยืนยันว่า ยังสามารถทานข้าวมันไก่ และเลือดไก่ได้ เพียงแต่ต้องปรุงเลือดไก่ให้สุกซ้ำด้วยความร้อนตั้งแต่ 75 องศาเซลเซียส นานเป็นเวลา 15 นาที หรือปรุงให้เดือดที่ 100 องศาเซลเซียส เพื่อฆ่าเชื้ออหิวาต์เทียมให้ตายได้ 100% วิธีดูว่าเลือดไก่ปรุงสุกหรือยังก็คือ หากเลือดไก่มีสีเข้ม เนื้อแข็ง แสดงว่าสุกแล้ว จะต่างกับเลือดไก่ที่ยังไม่สุกดีซึ่งจะมีสีแดง ๆ มีกลิ่นคาวและเนื้อนิ่้ม
นอกจากนี้ ต้องฝากไปร้านข้าวมันไก่ด้วยว่า ต้องนำเลือดไก่ที่ซื้อมาไปต้มสุกซ้ำ เพื่อฆ่าเชื้ออหิวาต์เทียม ขณะเดียวกันคนขายอาหารต้องรักษาความสะอาดและสุขอนามัยในการปรุงอาหารด้วย โดยการใส่ถุงมือพลาสติกสับไก่ แยกเขียงกับมีดสำหรับหั่นเลือดไก่ต่างหาก อย่าใช้เขียงและมีดเล่มเดียวกับการหั่นผัก หรือประกอบอาหารชนิดอื่น ๆ กรณีมือเป็นแผล ไม่ควรสับไก่ขาย
ขณะที่ นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา หรือ หมอแมว เจ้าของเพจ "ความรู้สนุก ๆ แบบหมอแมว" ก็ได้แชร์ข้อมูลที่น่าสนใจว่า นอกจากเชื้ออหิวาต์เทียมแล้ว ในข้าวมันไก่ยังมีเชื้อโรคอื่น ๆ ปนเปื้อนได้อีก หากปรุงไม่สุก สะอาด เช่น
ในเนื้อไก่ที่ปรุงสุกไม่ดีอาจเจอเชื้อ Salmonella Campylobacter Vibrio (ทั้ง 3 ชนิด) และเชื้ออีโคไล
ในข้าวอาจเจอเชื้อ S.Aureus B.Cerues ได้ จากการที่นำน้ำต้มไก่ไปหุงข้าว หรือเอามือเปล่าไปจับไก่แล้วไปตักข้าว
ในแตงกวาก็อาจเจอเชื้อโรคได้เช่นกัน ถ้ามีดและเขียงที่ใช้หั่นแตงกวากับเนื้อไก่เป็นเขียงเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม หากจะทานข้าวมันไก่ คุณหมอแมว ก็แนะนำว่าต้องเลือกให้ดี เพื่อป้องกันเชื้อโรคเหล่านี้ คือ
1. ร้านไหนมีประวัติว่าคนกินท้องเสียบ่อย อย่าไปกิน
2. ข้าวมันไก่เหมาะกับการกินร้อน ๆ ทำเดี๋ยวนั้น กินเดี๋ยวนั้น เลี่ยงการทานข้าวมันไก่บรรจุกล่อง
3. เลือดไก่ ไม่ควรกิน ถ้าจะกินต้องร้อน ๆ (การทำเลือดไก่ เราไม่รู้ว่าทำแบบใส่สารทำให้แข็งหรือใช้ความร้อน)
4. ร้านไหนใช้เขียงรวม หั่นไก่ หั่นแตงกวา การคดตักข้าวทำสลับกับการหั่นไก่ที่ไม่ร้อน โดยไม่ได้มีการใช้ถุงมือหรือล้างมือ อย่ากิน
5. ร้านไหนเจ้าของร้านบอกว่ากิน ๆ ไปเถอะ อย่าอนามัยจัด อย่าไปกิน (เพราะเชื้อ Salmonella ตกค้างในร่างกายได้ ถ้าเจ้าของร้านไม่สนใจสุขอนามัยยิ่งต้องระวัง)
สรุปก็คือ ทานข้าวมันไก่ได้ แต่ต้องเลือกทานร้านที่สะอาด ปลอดภัย เพื่อที่จะได้ไม่เกิดอาการป่วยใด ๆ ตามมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น