"ส้มป่อย" พืชศักดิ์สิทธิ์ ของดีล้านนาที่ยังมีลมหายใจ |
|
"ส้มป่อย" พืชศักดิ์สิทธิ์ ของดีล้านนาที่ยังมีลมหายใจ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ของชาวล้านนา ทุกคนมีความสุขสนุกสนานเบิกบานใจ แต่ก็ไม่ลืมที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างเพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ชีวิต โดยพิธีกรรมบางอย่างพบว่า มีเรื่องของต้นไม้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในด้านของความเชื่ออยู่ค่อนข้างมาก
นิทานจากพรหมจักร ชาดก ชาดกล้านนาเรื่อง "อุสสาบารส" กล่าวถึงเรื่องของส้มป่อยว่า ครั้งหนึ่งมีควายชื่อทรพีคิดอยากเอาชนะพ่อ จึงท้าชนทรพาผู้พ่อ ทั้งสองต่อสู้กันจนเวลาล่วงเลย ฝ่ายทรพีเพลี่ยงพล้ำถูกทรพาไล่ขวิดจนถอยร่นไปไกล
ขณะนั้นเองทรพีได้ถอยไปชนต้นส้มป่อยที่กำลังออกฝักอยู่ ด้วยกำลังที่ชนอย่างแรงทำให้ฝักส้มป่อยหล่นลงมาถูกหัวทรพี ทันใดนั้น กำลังที่เคยอ่อนล้าหมดแรง เกิดฮึกเหิมเพิ่มขึ้น ได้ทีทรพีจึงถาโถมเข้าชนทรพาอย่างเมามัน ผู้เป็นพ่อเสียทีหมดแรงถอยไปชนต้นมะขามป้อม ลูกมะขามป้อมหล่นถูกหัว เรี่ยวแรงที่อ่อนล้ายิ่งหมดไป จึงถูกทรพีผู้เป็นลูกฆ่าตายในที่สุด เรื่องนี้อาจเป็นต้นเหตุหนึ่งของความเชื่อในอนุภาพของน้ำส้มป่อย
ในวรรณกรรมชาดกเรื่อง "ปุณณนาคกุมาร" ตอนที่ปุณณนาคกุมารเข้ากราบทูลพระบิดาเพื่อขออนุญาตทิ้งสภาวะอันเป็นนาคให้กลายเป็นมนุษย์ พระบิดาทรงอนุญาตและได้ประทานขันทองคำให้ 1 ใบ แล้วให้หาส้มป่อยให้ได้ฝัก ที่มี 7 ข้อ จำนวน 7 ฝัก เอาแช่ในขันที่มีน้ำจาก 7 แม่น้ำ และ 7 บ่อ นำไปที่ฝั่งแม่น้ำใหญ่ เสกคาถา 7 บท จำนวน 7 คาบ ถอดคราบออกและอาบน้ำมนต์พร้อมสระเกล้าดำหัว
จากนั้นเอาคราบนาคนั้นใส่ในขันทองคำไหลลงน้ำเสียจึงจะเป็นคนโดยสมบูรณ์ การใช้ส้มป่อยที่ปรากฏในเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในคุณสมบัติของส้มป่อยอีกเรื่องหนึ่ง |
|
|
|
ส้มป่อย เป็นพืชประเภทไม้เถาเนื้อแข็งชนิด Acacia rugata Merr. ในวงศ์ Leguminosae ต้นและใบคล้ายชะอม มีรสเปรี้ยว ชาวบ้านจะใช้ยอดอ่อนใส่แกงให้ได้รสเปรี้ยว แทนมะนาว ชาวบ้านนิยมใส่ในต้มส้มไก่เมือง ปลา หรือต้ม ส้มขาหมู จะได้รสชาติเปรี้ยวอร่อยและหอมกลิ่น
ส้มป่อยมีผลเป็นฝักแบนๆ เป็นข้อ คล้ายฝักฉำฉาหรือฝักกระถินเทศ แต่จะสั้นและบางกว่า จะมีหนามตลอดที่ต้นและกิ่งก้าน นิยมใช้ฝักแห้งของส้มป่อยแช่น้ำสำหรับเป็นส่วนประกอบสำคัญในพิธีกรรมรดน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล
สรรพคุณทางยา ต้น แก้น้ำตาพิการ ใบแก้โรคตา เป็นยาถ่าย ขับเสมหะ ชำระเมือกมันในลำไส้ แก้บิด ฟอกล้างประจำเดือน ดอกรักษาโรคเส้นพิการ, ผล ใช้แก้น้ำลายเหนียว, ราก ใช้แก้ไข้, ฝักแห้งนำไปปิ้งให้เหลืองชงน้ำจิบแก้ไอและขับเสมหะ เป็นยาทำให้อาเจียน
ใช้ฟอกผมแก้รังแค ช่วยให้ผมดกดำเป็นเงางาม ไม่แตกปลาย แก้ไข้จับสั่น แก้โรคผิวหนัง, เมล็ด นำไปคั่วแล้วบดให้ละเอียดใช้นัตถุ์ให้คันจมูก ทำให้จามดี ส่วนใบ ตำให้ละเอียดใช้ประคบช่วยคลายเส้นได้ ส้มป่อย เป็นพืชสมุนไพรที่ผู้คนยกย่องให้มีคุณค่าควรแก่การเก็บรักษา เชื่อว่าสามารถขจัดสิ่งชั่วร้ายเภทภัยต่างๆ ให้หมดไปจากตัวและบ้านเรือนได้
วิถีชีวิตชาวชนบทล้านนากลมกลืนสอดคล้องกับธรรมชาติ ความเชื่อและแนวปฏิบัติจึงได้รับอิทธิพลจากสิ่งรอบตัวถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุณค่าสำคัญของธรรมชาติเกิดจากใจที่มีแรงศรัทธาและความเชื่อมั่น หลายอย่างจึงบังเกิดผลดีและถ่ายทอดให้ถือปฏิบัติสืบมา
|
|
|
|
นอกจากนี้ ส้มป่อยยังผูกพันเกี่ยวข้องกับชาวชนบทล้านนาในเรื่องพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ชาวบ้านเชื่อว่า ส้มป่อยเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ขจัดสิ่งเลวร้าย อัปมงคล เป็นการปลดปล่อยสิ่งไม่ดีให้หลุดพ้นจากชีวิต
โดยเฉพาะคนล้านนามีความเชื่อตามชาดกว่าเป็นพืชที่มีพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ เรียกตามภาษาถิ่นว่าส้มป่อย เป็นตัวแพ้สิ่งจัญไรอัปมงคลชั่วร้าย (แพ้ เป็นภาษาถิ่นเหนือ หมายถึง ชนะ) คำว่าป่อย หมายถึงปลดปล่อยสิ่งจัญไรทั้งหลายให้หลุดพ้นจากชีวิตคนเรา ชาวบ้านจะเก็บฝักส้มป่อยในช่วงเดือน 5 เป็ง หรือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เหนือ ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน เรียกส้มป่อยที่เก็บในเดือนนี้ว่า ส้มป่อยเดือน 5 จะทำให้ได้ส้มป่อยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น
เมื่อได้เวลาเก็บ ชาวบ้านจะเลือกเก็บฝักส้มป่อยที่แก่จัด นำไปตากในกระด้งให้แห้งสนิท เก็บใส่ตะกร้าไว้ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ทั้งพิธีมงคลและอัปมงคล ก่อนนำไปใช้จะนำฝักส้มป่อยไปผิงไฟพอให้สุก ส้มป่อยจะมีกลิ่นหอมเปรี้ยว จากนั้นหักฝักส้มป่อยเป็นชิ้นเล็กๆ แช่ในน้ำ จะได้น้ำส้มป่อยที่มีสีเหลืองอ่อนๆ สำหรับใช้ในพิธีกรรมสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในด้านการปฏิบัติ ชาวล้านนานิยมใช้ส้มป่อยมาตั้งแต่โบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลสงกรานต์ สำหรับวิธีการใช้จะใช้ฝักแห้งของส้มป่อยปิ้งไฟให้ หอมแช่ลงในน้ำสะอาด ที่มีผงขมิ้นละลายเจืออยู่ เรียกน้ำนี้ว่า "น้ำขมิ้นส้มป่อย" แต่ระยะหลังนี้ไม่ค่อยปรากฏการใช้ขมิ้นอีก แต่นิยมเติมน้ำอบน้ำหอมและเกสรแห้งของดอกไม้หอม เช่นดอกสารภีและดอกคำฝอย เป็นต้น
น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ชำระสิ่งชั่วร้ายจากพระสงฆ์ นอกจากคาถาที่ร่ายเป่าลงไปแล้ว ในน้ำยังมีสิ่งสำคัญที่ก่อเกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้ศรัทธา คือส้มป่อยเป็นส่วนผสมหนึ่งด้วย
พิธีการสำนึกบุญคุณและขอขมาผู้ใหญ่ที่นับถือ หรือการดำหัวในเทศกาลปี๋ใหม่เมือง ผู้น้อยถือขันข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ น้ำส้มป่อย ที่ผู้ใหญ่ใช้ลูบหัวหลังเสร็จการให้พร แล้วสะบัดพรมให้ลูกหลานเพื่อเป็นสิริมงคลทั้งตนเองและผู้ที่รัก
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ เช่น พระพุทธรูป พระเครื่อง ชาวบ้านจะนำน้ำส้มป่อยใส่น้ำอบน้ำหอม เพื่อสรงน้ำพระในวันปี๋ใหม่เมือง เช่นกัน
ประเพณีงานบุญที่พ่อแม่ทุกคนต่างรอคอยโอกาส สร้างกุศลใหญ่ เพื่อปรารถนาให้ลูกชายพาไปพบชีวิตที่ดีในโลกหน้าคือ การบวชลูกแก้ว (บวชพระหรือเณร) น้ำส้มป่อยก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการชำระล้างเนื้อตัวให้บริสุทธิ์ก่อนเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
ความตาย น้ำส้มป่อยก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในงานใช้อาบน้ำศพเพื่อให้ผู้จากไปได้พบสิ่งดีสู่สุคติ ผู้ที่ยังอยู่จะใช้น้ำส้มป่อยล้างมือ ลูบผมเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายและไล่เสนียดจัญไรออกจากตัว ถ้าเป็นการเผาผีตายโหง ฝักส้มป่อยที่นำติดตัวสามารถล้างอาถรรพ์จากผีไม่ให้ติดตามมาได้
การสืบชะตาสะเดาะเคราะห์ประกอบพิธีไหว้ครู เช่น ครูซอ ครูหมอเมือง (หมอสมุนไพรพื้นบ้าน) ล้วนมีน้ำส้มป่อยเข้ามาช่วยให้ขลัง ชาวบ้านยังมีความเชื่อว่า ถ้าใครไปทำสิ่งไม่ดีที่เรียกว่า ขึด ทำให้ตนเจอะเจอความชั่วร้าย ไม่เป็นมงคล สิ่งที่ช่วยให้บรรเทาเบาบางลงคือ น้ำส้มป่อย
ครูอาจารย์ผู้มีเวทมนตร์คาถาที่นั่งผีปู่ย่า (คนทรง) เมื่อทำผิดข้อห้ามของครูอาจารย์ บรรพบุรุษ ที่เรียกกันว่า ผิดครู หรือบุคคลที่มีคาถาอาคมที่บังเอิญไปลอดราวตากผ้า หรือร้านบวบ (เชื่อว่าจะทำให้คาถาอาคมเสื่อม) น้ำส้มป่อยก็ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นและมีของดีในตัวได้ดังเดิม
ส้มป่อยกับวิถีชีวิตชาวชนบทล้านนาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาช้านาน เกือบจะทุกขั้นตอนในการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งหมดลมหายใจ
การเคารพความยิ่งใหญ่ในธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น ก่อให้เกิดพลังศรัทธากลายเป็นความเชื่อมั่นนำไปสู่การปฏิบัติที่ได้ผล ดังนั้นผู้คนจึงยกให้ส้มป่อยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ควรคู่ชีวิตชาวล้านนาตลอดไป.
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น