เมื่อฟอร์มาลิน…อยู่ในอาหาร !!
เมื่อพูดถึง ฟอร์มาลิน หลายคนคงนึกถึงสารเคมีที่ใช้ในการดองศพ เพื่อป้องกันไม่ให้ศพเน่าเปื่อย แต่คุณสมบัติของมันไม่ได้มีอยู่เพียงแค่นั้น ฟอร์มาลินยังเป็นสารที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีก เช่น ใช้เป็นสารฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา ในห้องผู้ป่วยและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทางการแพทย์ หรือในวงการอุตสาหกรรม ก็มีการนำสารฟอร์มาลินมาใช้เป็นส่วนประกอบและสารตั้งต้นของผลิตภัณฑ์ อย่างกาว ผ้าใยสังเคราะห์ พลาสติก สีทาบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ
ฟอร์มาลิน (Formalin) หรือ สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) มีสูตรทางเคมีว่า CH2O เป็นสารละลายที่ประกอบด้วยแก๊สฟอร์มัลดีไฮด์ร้อยละ 37-40 เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสีกลิ่นฉุน แสบจมูกโดยปกติสารละลาย นี้จะไม่เสถียรเมื่อเก็บไว้นานโดยเฉพาะที่อุณหภูมิสูง จะกลายเป็นกรดฟอร์มิก ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน
สารเคมีอย่างฟอร์มาลินจึงเป็นสารที่ไม่น่าจะสารที่เจือปนอยู่ในอาหาร แต่ล่าสุดเมื่อต้นเดือน มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา นักวิจัยจากสำนักสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ทำการตรวจสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร ในเขตพื้นที่จังหวัดภาคอีสาน พบว่า มีการตรวจพบสารฟอร์มาลินเจือปนอาหารอยู่ในปริมาณที่สูงเป็นอย่างมาก !!
อาหารที่ทำการตรวจพบสารฟอร์มาลีนนั้นได้แก่ อาหารทะเล และอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคุณสมบัติของสารฟอร์มาลีน ซึ่งช่วยในการศพไม่ให้เน่าเปื่อย โดยฟอร์มาลินจะเข้าไปทำให้โปรตีนในเซลล์เกิดการตกตะกอน ทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้ ทั้งยังฆ่าทำลายเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อรา ดังนั้นเนื้อเยื่อของศพจึงแข็งและไม่อ่อนนุ่ม ทำให้คงสภาพไว้ได้เช่นเดิม ทำให้พ่อค้าแม่ขายบางคนจึงคิดใช้ประโยชน์จากสารเคมีชนิดนี้ โดยนำสารฟอร์มาลินมาใส่ในอาหารเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารเน่าเสียเร็ว เพื่อที่จะได้ทำการเก็บไว้ได้นานยิ่งขึ้น
โดยปกติแล้ว หากร่างกายเรารับสารฟอร์มาลีนเข้าไปในปริมาณที่ต่ำ ร่างกายของเราจะสามารถกำจัดสารเหล่านี้เองได้ แต่หากรับเข้าไปในปริมาณที่สูงขึ้นถึง 30-60 มิลลิลิตร หรือมีความเข้มข้นมากขึ้น ฟอร์มาลีนจะเปลี่ยนรูปไปเป็นกรดฟอร์มิค ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายการทำงานของเซลล์ในร่างกายระบบต่าง ๆ ได้แก่
ระบบทางเดินหายใจ หากได้รับในรูปของไอระเหยของฟอร์มัลดีไฮด์ แม้จะปริมาณต่ำ ๆ หากสัมผัสถูกดวงตา อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ถ้าสูดดมเข้าไปจะทำให้หลอดลมบวม แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ทำให้เป็นแผลหรือถึงขั้นตาบอด หากสูดดมเข้าไปมาก ๆ จะทำให้น้ำท่วมปอด จนหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก และตายในที่สุด อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นหลายชั่วโมงหลังจากได้รับสารโดยไม่มีอาการเจ็บปวดเลยก็ได้
ระบบทางเดินอาหาร จะทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หากได้รับสารนี้โดยการบริโภค จะเกิดอาการพิษโดยเฉียบพลัน ซึ่งอาการมีตั้งแต่ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน อุจจาระร่วง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว ถ้าหากได้รับในปริมาณ 60-90 มิลลิลิตร จะทำให้การทำงานของตับ ไต หัวใจ และสมองเสื่อมลง และก่อให้เกิดการปวดแสบปวดร้อนที่คอและปาก เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรงหมดสติได้
ผิวหนัง เมื่อสัมผัสจะเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน เป็นผื่นแดงเหมือนลมพิษ จนถึงผิวหนังไหม้เปลี่ยนเป็นสีขาวได้หากสัมผัสโดยตรง
ดังนั้นฟอร์มาลินจึงถือเป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามใช้ในอาหาร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศตามกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ผู้ใช้สารนี้กับอาหารหรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิตจำหน่ายอาหารที่ไม่บริสุทธิ์และถ้าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจพบสารดังกล่าว จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย อาจต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม การบริโภคอาหาร จึงควรเลือกอาหารให้ปลอดภัยจากอันตรายของฟอร์มาลิน ทั้งนี้ควรตรวจสอบดูว่า อาหารเหล่านั้นมีฟอร์มาลินปนเปื้อนอยู่หรือไม่ โดยสังเกตเบื้องต้นว่าอาหารนั้นมีความผิดปกติไปจากธรรมชาติหรือไม่ เช่น เนื้อสัตว์ยังสด แม้จะถูกแสงแดดหรือลมเป็นเวลานาน ผักหรือผลไม้มีลักษณะแข็ง กรอบ หรือเขียวผิดปกติ หรือหากดมส่วนใบหรือก้านของผัก พบว่ามีกลิ่นแสบจมูก หรืออาหารทะเล เช่น ปลา กุ้ง มีเนื้อบางส่วนแข็ง บางส่วนเปื่อยยุ่ย ดังนี้จึงไม่ควรซื้อมารับประทาน เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลิน
แม้การรณรงค์ป้องกันการใช้สารฟอร์มาลินใส่ในอาหารจะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาประกาศให้ฟอร์มาลินเป็นสารอันตรายตามพระราชบัญญัติอาหารแล้วก็ตาม แต่ข่าวการตรวจพบฟอร์มาลินในอาหารยังคงมีให้เห็นอยู่ร่ำไป ดังนั้น วิธีการป้องกันที่นอกเหนือจากการรณรงค์ให้พ่อค้าแม่ค้ารักษาจรรยาบรรณในการขายแล้ว เราจึงควรระมัดระวัง ในการเลือกซื้ออาหารเพื่อบริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงจากฟอร์มาลิน สารเคมีร้ายในอาหารนะคะ
อ้างอิง
- http://th.wikipedia.org/wiki/ฟอร์มาลดีไฮด์
- http://www.nstda.or.th/vdo-nstda/sci-day-techno/4588-formalin
- http://www.fda.moph.go.th/project/foodsafety/formalin.htm
- http://th.wikipedia.org/wiki/ฟอร์มาลดีไฮด์
- http://www.nstda.or.th/vdo-nstda/sci-day-techno/4588-formalin
- http://www.fda.moph.go.th/project/foodsafety/formalin.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น