มข.- นักวิจัย มข. พบวิธีรักษา "เมลิออยด์" โรคที่คนไทยเป็นบ่อยแต่น้อยคนรู้จัก ด้วยยาเพียงขนานเดียว ลดอาการข้างเคียงได้มาก
ศ.พญ.เพลินจันทร์ เชษฐ์โชติศักดิ์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อละเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยถึง การค้นพบการรักษาโรคเมลิออยด์ด้วยยาที่สะดวกและปลอดภัยกว่ายาที่ใช้ในปัจจุบัน
"โรคเมลิออยด์เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อ บัวร์โคเดเรีย ซูโดมัลเลอิ (Burkhoderia pseudomallei) ซึ่งพบในดินและน้ำ เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคอีสาน ซึ่งมีผู้ป่วยใหม่มากกว่า 2000 รายต่อปี โรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 40%" ศ.พญ.เพลินจันทร์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องได้รับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วันในโรงพยาบาล และผู้ป่วยที่รอดชีวิตมีอัตราการกลับเป็นซ้ำสูง ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลต้องได้รับยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำอีกอย่างน้อย 12-20 สัปดาห์
สูตรยามาตรฐานในการรักษาช่วงป้องกันการกลับเป็นซ้ำประกอบด้วย การใช้ยาโคไธม็อกซาโซลซึ่งประกอบด้วยยา 2 ชนิดในเม็ดเดียวกัน ร่วมกับยาด็อกซีไซคลิน ซึ่งสูตรนี้มีผลข้างเคียงพอสมควรทำให้ผู้ป่วยอาจจะไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยาได้ และมีข้อมูลว่า ออสเตรเลียมีการรักษา โดยใช้ยาโคไธม็อกซาโซลตัวเดียว
"คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพ และผลของการใช้ยาโคไธม็อกซาโซล ตัวเดียวเปรียบเทียบกัน โคไธม็อกซาโซลร่วมกับ ด็อกซีไซคลิน ในการรักษาผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ป่วยมีอัตราการกลับเป็นซ้ำไม่ต่างกันระหว่างการรักษาด้วยยาโคไธม็อกซาโซลตัวเดียว กับได้รับยาโคไธม็อกซาโซลร่วมกับด็อกซีไซคลิน นอกจากนี้ผลข้างเคียงในกลุ่มที่ได้รับยาขนานเดียวยังน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยา 2 ขนาน" ทีมวิจัย มข.ระบุ
จากผลของการวิจัยนี้จึงนำมาสู่การใช้โคไธม็อกซาโซลตัวเดียว เป็นยามาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยเมลิออยด์ในระยะป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
ศ.พญ.เพลินจันทร์ กล่าวอีกว่า การศึกษานี้เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยเมลิออยโดสิส มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกฟอร์ด มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ทำการศึกษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี โรงพยาบาลมหาสารคามและโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 626 ราย ซึ่งเป็นการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการศึกษามา การศึกษานี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียงคือวารสารแลนเซท (Lancet) เมื่อวันที่ 24 พ.ย.56
รศ.ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเมลิออยโดสิส คณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า ในปัจจุบัน ศูนย์วิจัยโรคเมลิออยโดสิส มีชุดตรวจวินิจฉัยระดับเบื้องต้น ซึ่งสามารถตรวจหาเชื้อของโรคเมลิออยโดสิส ซึ่งสามารถใช้เวลาเพียง 2 นาที ก็สามารถทราบได้ว่าใช่หรือไม่ และปัจจุบันได้ทดลองใช้ในโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ผลค่อนข้างดี สามารถช่วยให้การวินิจฉัยโรคได้เร็ว ถูกต้อง แม่นยำขึ้น และผู้ป่วยก็ได้รับการรักษาหายจากโรคได้เร็วขึ้นด้วย
"โรคเมลิออยด์มักพบในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานและเป็นชาวไร่ชาวนาซึ่งสัมผัสดินและน้ำระหว่างการทำงาน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย แต่ประชาชนไม่ค่อยรู้จักหรือคุ้นเคยรวมทั้งไม่รู้วิธีการป้องกันกับโรคนี้ ดังนั้นการป้องกันคือการสวมรองเท้าบูท ระหว่างการทำไร่ทำนา หลีกเลี่ยงการทำงานระหว่างที่มีฝนตกพายุลมแรง และดื่มน้ำที่สะอาด เพียงเท่านี้ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงและห่างไกลจากโรคนี้ได้" รศ.ดร.สุรศักดิ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น