วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

คุณเข้าข่ายคน หูตึง หรือเปล่า

ตะโกนกันเข้าไปอีก ตะโกนอีก ตะโกนอีก แต่ก็ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง ใช่ว่าต้นเสียงจะกระซิบกระซาบ หรือสภาพแวดล้อมจะอึกทึกครึกโครม แต่เป็นเพราะปลายทาง “หูตึง”
สำหรับวันนี้ เราขอชวนชาวอีแมกกาซีนมาทำความรู้จักกับโรค หูตึง ซึ่งเมื่อคนเราแก่ตัวการได้ยินอาจลดน้อยลง แต่ถ้าอายุยังน้อยแล้ว ทำไมยังไม่ค่อยจะได้ยินอีก เอาเป็นว่า เรื่องนี้ต้องขยาย
158542148
หูตึง
เมื่อเสียงจากภายนอกผ่านรูหูเข้ามา คลื่นเสียงจะทำให้แก้วหูสั่น จังหวะการสั่นของแก้วหูจะถูกส่งผ่านจากหูชั้นกลางเข้าสู่หูชั้นใน ภายในบริเวณหูชั้นในจะมีเซลล์ขน (Hair cell) ราว 30,000 เซลล์ ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้า แล้วส่งต่อไปยังสมอง เพื่อแปลความหมายของสัญญาณที่ได้รับ
การสูญเสียการได้ยินเนื่องจากประสาทหูเสื่อมนั้น คลื่นเสียงสามารถเดินทางไปถึงหูชั้นในได้ แต่เซลล์ขนในหูตายไปแล้ว ดังนั้นสัญญาณต่างๆ จึงไม่สามารถเดินทางไปสู่สมองได้ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการ หูตึง
หูตึง หมายถึง ความสามารถในการรับฟังเสียงลดลง จะตึงมากตึงน้อยขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยคนปกติจะมีระดับการได้ยินที่ 25 เดซิเบล หรือน้อยกว่า ขณะที่คน หูตึง ระดับการได้ยินจะมีค่าสูงกว่านั้น
สำหรับสาเหตุก็เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่จะเนื่องมาจากปัญหาที่หูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง เช่น เกิดจากเป็นโรคหูน้ำหนวก หูชั้นกลางอักเสบ ขี้หูอุดตัน กระดูกภายในหู คือ กระดูกค้อน ทั่ง โกลน มีหินปูนมาเกาะหรือแยกหลุดออกจากกัน ที่ยูสเตเชี่ยน ซึ่งเป็นท่อที่ทำหน้าที่ปรับความดันในหูชั้นกลางเกิดการอุด ตัน และแก้วหูทะลุ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถให้ยาหรือผ่าตัดรักษาได้
อาการ หูตึง
อาการ หูตึง อาจเกิดขึ้นได้จากปัญหาที่หูชั้นใน คือที่ประสาทหู เช่น การติดเชื้อ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ซึ่งอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เวียนศีรษะบ้านหมุน มึนงง หรือมีเสียงดังในหู อาการ หูตึง ในลักษณะนี้ บางชนิดสามารถรักษาได้โดยการกินยา บางชนิดรักษาได้โดยการผ่าตัด
อาการ หูตึง อาจเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานในที่ที่มีเสียงดังอยู่ตลอดเวลา หรือสัมผัสกับเสียงที่ดังเกินมาตรฐานความปลอดภัย 85 เดซิเบลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้สูงอายุก็มักจะมีอาการ หูตึง แบบค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน โดยเกิดจากประสาทหูเสื่อม หูตึง จากสาเหตุลักษณะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถใช้อุปกรณ์ช่วยฟังได้โดยทั่วไป
สำหรับปัญหาการได้ยินในเด็กจะมีระดับความรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ สาเหตุของ หูตึง ในเด็กส่วนมากเกิดจากมารดาติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม ทารกมีอาการตัวเหลืองต้องเข้าตู้อบ ขาดออกซิเจนชั่วคราวขณะคลอด หรือเกิดจากกรรมพันธุ์ ที่มีญาติพี่น้อง หูตึง หรือหูหนวก
139541397
เด็กที่ หูตึง มาแต่กำเนิด ส่วนมากจะสูญเสียการได้ยินในระดับรุนแรง คือต้องใช้เสียงดังมากหรือตะโกนจึงจะได้ยิน แต่ถึงจะได้ยินก็จะได้ยินไม่ชัด เนื่องจากเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่แยกเสียงบกพร่อง เด็กที่ หูตึง จะพูดไม่ชัด เพราะจะพูดตามเสียงที่ได้ยิน และจะพูดได้น้อยหรือมีพัฒนาการทางภาษาช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน เด็กต้องเรียนรู้การอ่านริมฝีปากประกอบกับเสียงที่ได้ยิน หรืออาจต้องใช้ท่าทางประกอบเพื่อความเข้าใจ เด็ก หูตึง มักจะซน หรือเล่นก้าวร้าวรุนแรง เนื่องจากมีปัญหาในการสื่อสาร พ่อแม่จึงควรสังเกตการรับฟังของเด็กตั้งแต่แรกเกิด ถ้าสงสัยว่าลูกมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที แต่ปัจจุบันนี้ก็มีการตรวจการได้ยินในเด็กเล็ก และสามารถใส่เครื่องช่วยฟังได้ตั้งแต่แรกเกิด การกระตุ้นการได้ยินตั้งแต่เล็กนั้น จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาที่ใกล้เคียงกับวัย
นอกจากนี้ ควรให้เด็กเข้ารับการฝึกพูด โดยนักแก้ไขการพูด การฝึกอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เด็กสามารถพูดได้ การที่พ่อแม่ฝึกพูดให้เด็กด้วยตัวเอง อาจได้ผลไม่ดีเท่า เนื่องจากการฝึกพูดนั้นมีเทคนิคและขั้นตอนต่างๆ โดยเฉพาะ
ส่วนการใส่ เครื่องช่วยฟัง ในเด็กโดยผู้ไม่ชำนาญหรือหาซื้อมาใส่เองตามคำโฆษณา เด็กอาจได้เครื่องช่วยฟังที่ไม่เหมาะสม เช่น เครื่องช่วยฟังที่เบาเกินไป เด็กจะไม่ยอมใช้เครื่องเพราะไม่ได้ประโยชน์จากการฟัง หรือเครื่องช่วยฟังที่ดังเกินไป เด็กก็จะไม่ยอมใช้เช่นกัน เนื่องจากฟังแล้วไม่สบายหูหรือปวดหู และที่สำคัญจะยิ่งทำให้สูญเสียการได้ยินมากขึ้นไปอีก
การใช้เครื่องช่วยฟังในผู้ใหญ่ก็เช่นกัน ควรพาผู้ป่วยไปตรวจวัดระดับการได้ยินก่อนว่า หูตึง มากน้อยเพียงใด และจะได้ประโยชน์จากการใช้เครื่องช่วยฟังหรือไม่ แม้ว่าปัจจุบันจะมีเครื่องช่วยฟังหลายแบบ ตั้งแต่ขนาดเล็กที่ซ่อนในช่องหูได้อย่างแนบเนียน แบบมีโปรแกรมแยกหลายช่องการทำงาน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการรับฟังเสียงได้ดีกว่าเครื่องในรุ่นก่อนๆ มาก อย่างไรก็ตาม ไม่ควรด่วนตัดสินใจซื้อตามคำโฆษณา
หูตึงในวัยชรา
เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ทุกอย่างในร่างกายจะหย่อนยานลง ยกเว้นหูเท่านั้นที่ตึงขึ้น ปัญหาหูตึงในผู้สูงอายุมักจะค่อยๆ เกิดขึ้น โดยตัวผู้สูงอายุเองมักจะไม่ทราบว่าตัวเองหูตึง แต่คนรอบข้างจะรู้ได้เป็นอย่างดี เพราะในการสนทนาต้องใช้เสียงดังขึ้น เปิดทีวีดังขึ้น ในบางคนอาจจะมีปัญหาเสียงรบกวนในหู ซึ่งก่อให้เกิดความรำคาญจนต้องเข้าพบแพทย์
สาเหตุของปัญหาหูตึงในผู้สูงอายุมีอยู่มากมาย โดยสาเหตุเล็กๆ มักเกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทการได้ยิน โดยมักจะเริ่มเสื่อมจากความถี่สูงก่อนแล้วค่อยๆ เป็นมากขึ้น ปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดหูตึงในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคทางไตที่ต้องใช้ยาเรื้อรัง เหล่านี้เป็นปัญหาที่ทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาหูตึง ได้ทั้งสิ้น
ปัญหาที่ตามมา
  1. คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุแย่ลง มีปัญหาในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นๆ รอบๆ ตัว อาจจะเกิดความรำคาญกับบุคคลรอบตัวได้
  2. อาจเกิดอันตรายจากการที่ไม่ได้ยินเสียงเตือนต่างๆ เช่น ของตกใส่ อุบัติเหตุจราจร
  3. อาจจะเกิดปัญหาซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้
การดูแลรักษา
  • ควรตรวจสมรรถภาพการได้ยินเป็นประจำทุกปี เมื่ออายุเกิน 60 ปี
  • ควบคุมดูแลโรคประจำตัวต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาแทรกซ้อนที่อาจทำให้หูตึงได้ ถ้าพบว่าประสาทหูเสื่อมถึงระดับปานกลาง การใช้เครื่องช่วยฟังก็เป็นวิธีที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น

ขอบคุณที่มาจาก : www.emaginfo.com

ไม่มีความคิดเห็น: