เรื่องอดตายเป็นที่เข้าใจง่าย แต่เรื่องอิ่มตายนี่สิชวนให้สงสัย คงไม่ใช่ท้องแตกตายเหมือนชูชกในเรื่องพระเวสสันดรชาดกแน่ๆ เพราะไม่เคยมีหลักฐานใดที่มาแสดงว่าท้องแตกเพราะกินมากไป
เหตุผลทีทำให้อิ่มตายซึ่งอาจเกิดได้มากที่สุดก็คือ ผู้ป่วยน่าจะมีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โดยจะรู้ตัวอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ก็ตาม เพราะบางคนก็รู้อยู่แล้วว่าตนเองมีปัญหาของหลอดเลือดหัวใจ ขณะที่บางคนก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเพราะไม่ได้ตรวจเช็คและสังเกตอาการ
เมื่อใดที่กินอาหารจนอิ่ม จะเกิดปัญหาเลือดไปเลี้ยงหัวใจน้อยลง เพราะถูกดึงไปเลี้ยงกระเพาะและลำไส้มากขึ้น เนื่องจากเลือดเป็นระบบขนส่งที่จะนำอาหารและก๊าซออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะ ต่างๆ และนำของเสียและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมากำจัด
อวัยวะใดทำงานมากขึ้นก็จะมีเลือดไปเลี้ยงเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อกินอาหาร เลือดก็จะไหลเข้ามาในช่องท้องเพื่อเลี้ยงทางเดินอาหารมากขึ้น อวัยวะอื่นๆ ก็จะได้รับเลือดน้อยลง แต่หัวใจยังคงต้องทำงานหนักเพราะเป็นตัวสูบฉีดเลือด(ปั๊ม) นั่นคือหัวใจเองก็ต้องการเลือดเพิ่มเพราะทำงานมากขึ้น
ถ้าหลอดเลือดแดงของหัวใจเกิดตีบตัน จะทำให้หัวใจขาดเลือด เต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จึงเกิดการช็อกตายอย่างกะทันหันขณะกินอาหาร หรือเมื่ออิ่มนั่นเอง
ข้อแนะนำ
- ไม่เร่งรีบกินอาหาร
- กินแต่พอดี ไม่ควรให้อิ่มจัด หรืออิ่มจนจุกแน่น
- ขณะกินอาหารหรือเมื่อกินอิ่มแล้ว ไม่ทำงานอย่างอื่นโดยเฉพาะงานที่ต้องออกแรงมาก หรือต้องใช้ความคิดอย่างมาก (ลดปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและสมอง)
- ขณะกินอาหารหรือเมื่อกินอิ่มแล้ว ไม่ทำกิจกรรมที่ทำให้ตื่นเต้นมากๆ
- ไม่ควรดื่มสุรา ชา กาแฟ เพราะจะกระตุ้นหัวใจมาก
- สังเกต อาการผิดปกติที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เช่น เจ็บแน่นหน้าอกด้านซ้าย บางครั้งก็ร้าวไปบริเวณใกล้เคียง เจ็บหน้าอกเมื่อเหนื่อย ออกกำลังหรือเมื่อกินอาหาร เป็นต้น และควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา
นอกจากการช็อกตายอย่างกะทันหันหลังกินอาหารอิ่มใหม่ๆ แล้ว หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ตายคาอก” ซึ่งสาเหตุก็คล้ายกันกับอิ่มตาย แต่ต่างกันตรงที่กิจกรรมที่ทำคือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ระวัง ออกแรงมาก ประกอบกับความรู้สึกตื่นเต้น ในขณะที่ตนเองมีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบตันอยู่แล้ว ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเสียชีวิตในที่สุด บรรดานักรักทั้งหลายโดยเฉพาะ “นักรักวัยทอง” จะกลัวกันมาก
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆของหลายประเทศ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ อ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง ไขมันในหลอดเลือดสูง เป็นต้น
การป้องกันคือ งดสุรา งดบุหรี่ ตรวจเช็กไขมันในหลอดเลือด และควบคุมความดันโลหิต ระวังอย่าให้อ้วน กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผัก ผลไม้สด ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
จะเห็นได้ว่าโรคหัวใจ (กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจาก หลอดเลือดตีบตัน) ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะเพียงแค่การ “อิ่มข้าว” หรือ “อิ่มรัก” มากไป ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นเราควรหันมาใส่ใจสุขภาพและดูแลหัวใจให้แข็งแรงดีกว่า
ที่มา : หมอชาวบ้าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น