แม่ของเราจนทรัพย์นัก...แต่ความรักในตัวเราท่านมิได้จนเลย ท่านเลี้ยงเราด้วยความเหนื่อยยาก ...เราจะตอบแทนความรักของท่านอย่างไรดี..."
โคกตัญญู ความกตัญญูเป็นคุณสมบัติของคนดี กตเวทีเป็นคุณธรรมแห่งผู้มีใจสูง ผู้เช่นนั้นย่อมได้ความสุขความเจริญและความสรรเสริญจากชุมนุมชน ไม่เพียงแต่คนดอก แม้สัตว์ดิรัจฉานบางตัวที่มีคุณธรรมเช่นนั้น ใครรู้เรื่องเข้าก็อดนิยมชมชอบมิได้
ดังเรื่อง โคดำ (กัณหะ)...
นานมาแล้วมีโคตัวหนึ่ง สีกายดำ เมื่อยังเป็นลูกโคน้อยๆ อยู่ เจ้าของพาไปพักอาศัย ณ เรือนของหญิงแก่คนหนึ่ง ตกลงกันว่า จะให้ลูกโคตัวนั้นเป็นค่าที่พัก
วันรุ่งขึ้นเจ้าของจากไป ทิ้งลูกโคดำไว้ให้หญิงแก่เจ้าของเรือน หญิงนั้นรักใคร่ลูกโคเหมือนบุตรของตน จึงเลี้ยงอย่างดียิ่ง ใครๆ พากันเรียกลูกโคนั้นว่า "อัยยิกาฬกะ" หรืออัยยิกากัณหะ แปลว่า โคดำของคุณยาย
กัณหะ เป็นโคที่เรียบร้อย เสงี่ยมเจียมตัว ไม่มีอาการแห่งสัตว์ดุร้าย ชาวบ้านและเด็กๆจึงชอบ พวกเด็กๆ ชอบจับที่เขาแล้วห้อยโหนเล่น จับที่หู ที่คอ และฉุดหางเล่นบ้าง ขึ้นขี่บนหลังบ้าง กัณหะไม่เคยแสดงอาการรำคาญหงุดหงิดเลย มีแต่ความเมตตาปรานีต่อเด็กๆ ซึ่งมีร่างกายเล็กกว่าตนหลายเท่า เมตตาปรานีและความเสียสละนั้นเปี่ยมล้นอยู่ในใจของกัณหะ
กัณหะเที่ยวไปหากินกับโคอื่นๆ ในถิ่นเดียวกันเป็นประจำทุกวัน ใจก็คิดอยู่เสมอว่า "แม่ของเราจนนัก แต่ไม่จนความรัก ท่านรักเราเหมือนลูก เลี้ยงดูเราด้วยความเหนื่อยยาก ทำอย่างไรหนอเราจะได้ทำการรับจ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้ทรัพย์มาช่วยแม่ให้พ้นจากความยากจน" ตั้งแต่นั้นมา กัณหะก็รับจ้างเล็กๆ น้อยๆ เช่น รับจ้างเขาลากเกวียนบ้าง ดูแลโคเล็กๆ ไม่ให้เที่ยวซุกซนไปในที่อันตรายบ้าง
ต่อมาวันหนึ่ง ลูกพ่อค้าเกวียนคนหนึ่ง นำเกวียนประมาณห้าร้อยเล่มมาถึงท่าน้ำที่ข้ามลำบาก โคของพ่อค้าเกวียนไม่สามารถลากเกวียนข้ามได้ โคเทียมเกวียนเป็นคู่ๆ ตั้ง ๕๐๐ เล่มติดต่อกันไป ไม่สามารถลากเกวียนให้ข้ามได้แม้เล่มเดียว
ขณะนั้น โคกัณหะและโคของชาวบ้านอื่นๆ หากินอยู่แถบนั้นไม่ไกลจากหมู่เกวียนเท่าใดนัก บุตรของพ่อค้าเกวียนเป็นคนฉลาดในการดูลักษณะโค เที่ยวเดินหาโคซึ่งหากินอยู่แถบนั้น เห็นโคกัณหะแล้วรู้ได้ทันทีว่าเป็น "อุสุภอาชาไนย" มีกำลังมาก สามารถลากเกวียนให้ข้ามท่าได้ จึงถามเด็กเลี้ยงโคว่า ใครเป็นเจ้าของโคนี้ เด็กเลี้ยงโคบอกว่า ในที่นี้ไม่มีเจ้าของ ถ้าต้องการจะให้ลากเกวียนก็จงจับมันไปเถิด
พ่อค้าเกวียนจับโคกัณหะนั้นจูงไป แต่โคไม่ยอมเดิน คิดอยู่ในใจว่า จะต้องตกลงค่าจ้างกันก่อน พ่อค้ารู้ความประสงค์ของโคนั้น จึงสัญญาว่าถ้าลากเกวียนไปได้ จะให้เงินเล่มละสองกษาปณ์ รวมเป็นพันกษาปณ์
เมื่อได้ฟังดังนั้น โคกัณหะจึงยอมเดินไป และลากเกวียนทีละเล่มด้วยกำลังทั้งหมดที่มีอยู่ ด้วยกำลังใจอันเข้มแข็ง และแรงกตัญญู
พ่อค้าเกวียนห่อทรัพย์ให้ ๕๐๐ กษาปณ์แล้วผูกให้ที่คอ แต่โคกัณหะรู้ว่าถูกโกงค่าแรงไปตั้งครึ่งจึงไม่ยอมให้พ่อค้าไป คือยืนขวางทางเอาไว้ พ่อค้าจะหลบเลี่ยงอย่างไรก็ไม่ยอม พ่อค้าเกวียนรู้ว่า ไม่อาจโกงแรงงานโคนี้ได้ จึงเพิ่มเงินให้ครบพัน ห่อแล้วแขวนคอให้
โคได้ทรัพย์แล้วดีใจ รีบวิ่งเอาไปให้คุณยายที่เลี้ยงตนมา โคกกัณหะมีรูปร่างซูบซีด ตาแดงมากเพราะ้ต้องออกแรงลากเกวียนถึง ๕๐๐ เล่ม
คุณยายเห็นโคของตนอยู่ในลักษณะเช่นนั้น จึงถามพวกเด็กที่วิ่งตามมาว่า โคของฉันได้ทรัพย์ที่ไหนมาและทำไมจึงตาแดงเช่นนี้ พวกเด้กเลี้ยงโคเล่าเรื่องทั้งปวงให้คุณยายทราบ
คุณยายทราบแล้วไม่อาจกลั้นน้ำตาได้ด้วยปีติกับสงสารระคนกัน ลูบสีรษะของโคอันเสมือนลูกของตน พลางกล่าวว่า
"แม่จะต้องเลี้ยงชีวิตด้วยค่าแรงของเจ้าด้วยหรือ ? ลูกรัก...ทำไมเจ้าจึงยอมทนทุกข์ทรมานถึงปานนี้ด้วยเล่า..." ดังนี้แล้วเอาน้ำอุ่นอาบให้ ทาน้ำมันให้ทั่วตัว กอดคอลูบศีรษะด้วยความรักใคร่ ฝ่ายโคเล่าก้ปลื้มใจหาน้อยไม่ ที่มีโอกาสได้เปลื้องผู้มีอุปการคุณต่อตนให้พ้นจากความยากจน
พวกเด็กๆ น่าจะถือเอาเรื่องโคกัณหะเป็นแบบอย่าง ช่วยพ่อแม่ทำมาหากินแทนการเอาแต่กินเล่นเที่ยว ซึ่งจะยังความปลื้มใจแก่บิดามารดาหรือผู้มีพระคุณของตนอย่างยิ่ง
เรียบเรียงจาก... นิตยสารศุภมิตร ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๕๕๑ เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๘ หน้า ๔๘-๕๐ |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น