วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย มาไขความเชื่อและข้อเท็จจริง

    โรคซึมเศร้า
    โรคซึมเศร้า อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คิดสั้นฆ่าตัวตายได้

     
    เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม 

              โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่คุกคามชีวิต เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตายได้ แต่ยังมีความเชื่อที่เราเข้าใจผิด ๆ กันอยู่มากเกี่ยวกับโรคนี้ เรามาดูกันเถอะว่ามีอะไรที่เรายังไม่ทราบกันบ้าง
              จากเหตุการณ์การสูญเสียนักแสดงฮอลลีวูดมากความสามารถอย่าง โรบิน วิลเลียมส์ ด้วยการฆ่าตัวตายจากอาการโรคซึมเศร้าที่สะเทือนใจแฟนภาพยนตร์ไปทั่วโลกนั้น ทำให้ผู้คนต้องหันกลับมาให้ความสนใจกับโรคนี้กันมากขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยปัญหาจิตเวชนั้นมากกว่า 1 ใน 4 หรือ 450 ล้านคนของประชากรทั่วโลก ขณะที่ในประเทศไทยนั้นกรมสุขภาพจิตได้เปิดเผยว่าสถิติของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีถึง 1.1 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับการรักษา
     
              ทั้งนี้ สาเหตุการเกิดโรคซึมเศร้านั้นก็มาจากการสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและเกิดจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนถึงจิตใจ ซึ่งโรคซึมเศร้านี้มีความอันตรายมากกว่าที่คิด และมีข้อเท็จจริงหลายอย่างที่หลายคนอาจยังไม่รู้ อย่างเช่นที่เว็บไซต์ health.com ได้บอกกล่าวเอาไว้ รู้เอาไว้เผื่อจะได้ช่วยกันสังเกตเพื่อป้องกันและรักษาเยียวยาอาการของผู้ป่วยได้ทันท่วงทีนะคะ

    ความเชื่อเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย

     1. วัยรุ่นเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายมากที่สุด?

              แม้ว่าการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นนั้นจะเป็นหัวข้อข่าวใหญ่อยู่เสมอ แต่ความจริงแล้วผู้สูงวัยมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายมากกว่าวัยอื่น ๆ โดยพบว่าชายผิวขาวในช่วงอายุ 85 ปี มีอัตราในการฆ่าตัวตายเฉลี่ยสูงถึง 49.8 คนต่อ 100,000 คน ซึ่งมากกว่าชายผิวขาวในช่วงอายุ 65 ปี ซึ่งมี 14 คนต่อ 100,000 คน และ 11 คนต่อ 100,000 คนในกลุ่มคนทั่วไป แต่วัยรุ่นนั้นก็ยังมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูง ซึ่งหนึ่งในห้าของนักเรียนมัธยมมักเคยมีความพยายามในการฆ่าตัวตาย โดยอัตราการฆ่าตัวตายของเด็กวัยรุ่นนั้นอยู่ในช่วงวัย 15-19 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่ที่ 6.9 คน ต่อคนในวัยเดียวกัน 100,000 คน

     2 การฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เกิดจากอาการของโรคซึมเศร้า?

              จริงอยู่ที่ว่าในทุก ๆ 2-3 คนของคนที่ฆ่าตัวตายนั้นจะมีอาการของโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นในช่วงก่อนการฆ่าตัวตาย แต่รู้ไหมว่า คนจำนวน 1 ใน 3 ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ มักดื่มแอลกอฮอล์มาก่อนหน้าด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อมูลนี้ออกมา แต่โรคซึมเศร้าก็จะคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการฆ่าตัวตายอยู่ดี

     3. ประเทศที่ยากจนมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าประเทศอื่น?

              ในความเป็นจริงแล้วประเทศที่พัฒนาแล้วมีอัตราในการฆ่าตัวตายสูงกว่าในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำที่สุดอยู่ในประเทศแถบละตินอเมริกา อย่างเช่น บราซิล และสาธารณรัฐโดมินิกัน ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น และฝรั่งเศสมีอัตราในการฆ่าตัวตายสูงที่สุด นอกจากนี้ยังมีการพบว่ามีชาวรัสเซียอย่างน้อย 54 คนใน 100,000 คน ฆ่าตัวตายในทุกปี โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการดื่มแอลกอฮอล์สูง

    โรคซึมเศร้า

     4. การฆ่าตัวตายในปัจจุบันมีอัตราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต?

              ความจริงแล้วอัตราการฆ่าตัวตายนั้นอยู่ในระดับคงที่มานานแล้วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและมีการลดลงเล็กน้อย แต่มีรายงานจากองค์การอนามัยโลกว่า อัตราในการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นถึง 60% ในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา โดยเกิดขึ้นในเยาวชนช่วงอายุ 15 - 24 ปี ซึ่งมีแนวโน้มในความพยายามฆ่าตัวตายมากกว่า 2 ครั้ง เมื่อเทียบกับผู้คนในช่วงอายุ 50 ปี 

    5. มีคนจำนวนน้อยนิดที่โทรหาสายด่วนสาธารณสุข เพื่อปรึกษาปัญหาชีวิต?
     
              ในปัจจุบันสายด่วนที่ให้คำปรึกษาปัญหาต่าง ๆ นั้นเป็นหนทางช่วยแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายที่ได้ผลดี และมีผู้คนมากมายที่กำลังประสบปัญหาได้โทรหาสายด่วนเหล่านี้เป็นจำนวนมาก และไม่ใช่ว่าจะเป็นเพียงแค่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้นที่จะสามารถโทรไปปรึกษาได้ ผู้ที่ใกล้ชิดหรือเกี่ยวข้องก็สามารถโทรไปเพื่อขอคำปรึกษาได้เช่นกัน โดยในประเทศไทยสามารถโทรไปได้ที่สายด่วนของกรมสุขภาพจิต 1667

     6. การฆ่าตัวตายมักจะเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์?

              มีการศึกษาที่ไม่ได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือฉบับไหนบอกว่า การฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในวันจันทร์ ซึ่งแพทย์หญิง Valenstein ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชแห่งศูนย์โรคซึมเศร้ามหาวิทยาลัยมิชิแกน ก็สนับสนุนข้อมูลนี้ว่า ถึงแม้จะไม่ชัดเจนแต่มีการสันนิษฐานถึงเหตุที่คนเลือกที่จะฆ่าตัวตายในวันจันทร์ เพราะวันจันทร์นั้นเป็นวันเริ่มต้นของสัปดาห์และเริ่มต้นการทำงาน ซึ่งคนจะมีความเครียดสูงในวันนี้

    โรคซึมเศร้า

    ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย

     1. สไตล์การเขียนเชื่อมโยงกับความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย

              ความคิดสร้างสรรค์, อาการซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายนั้นมีส่วนเชื่อมโยงกัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่นักสร้างสรรค์ในประวัติศาสตร์ที่มีความเจ็บป่วยทางร่างกาย และความซึมเศร้าจะมีผลกระทบต่อความคิดของพวกเขา ตัวอย่างเช่น Charles Dickens, John Keats และ Tennessee Williams และมีนักเขียนบางส่วนที่ฆ่าตัวตายได้แก่ Ernest Hemingway, Sylvia Plath และ David Foster Wallace. ซึ่งนักเขียนเหล่านี้ได้มีบางอย่างที่เหมือนกันนั่นก็คือผลงานเขียนของเขาถูกเล่าผ่านบุคคลที่หนึ่ง ซึ่งมันคือสัญญาณของการฆ่าตัวตาย

     2. ภาวะซึมเศร้าสามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้

              ในครอบครัวที่สมาชิกมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าจะยิ่งที่ให้เด็กที่อยู่ภายในครอบครัวมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นในช่วงอายุ 11 ปี ทั้งนี้ ครอบครัวหรือเพื่อนมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตาย และแรงสนับสนุนทางสังคมก็เป็นส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้เช่นกัน

     3. ส่วนใหญ่แล้วการฆ่าตัวตายมักจะล้มเหลว

              แพทย์หญิง Valenstein ได้เปิดเผยว่า มีความพยายามเพียง 1 ครั้ง จากความพยายามในการฆ่าตัวตาย 10 ถึง 25 ครั้งเท่านั้นที่สำเร็จ และในปัจจุบันอัตราก็ยิ่งต่ำลง พร้อมกับแนะนำว่าวิธีที่จะช่วยทำให้ความคิดในการพยายามฆ่าตัวตายลดลงได้ก็คือการนำสิ่งที่สามารถใช้ในการฆ่าตัวตายออกให้ห่างจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ให้พวกเขารู้สึกว่าการฆ่าตัวตายนั้นยากลำบากมากขึ้น 

    โรคซึมเศร้า

     4. การบำบัดรักษาช่วยตัดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายออกไปได้

              แม้ว่าในตอนนี้จะมีไม่กี่วิธีที่จะช่วยในการป้องกันการฆ่าตัวตายได้ แต่วิธีที่ดีที่สุดก็คือการรักษาโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยทำให้ความคิดที่อยากจะฆ่าตัวตายนั้นลดลงได้ โดยแพทย์หญิง Valenstein พบว่าในกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี นั้นจะมีความคิดในการฆ่าตัวตายที่ลดลง หลังได้รับการรักษาโรคซึมเศร้า

     5. การฆ่าตัวตายทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้

              การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในปัจจุบันนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบมากขึ้น ซึ่งหลายประเทศได้ออกกฎให้สื่อมวลชนจะต้องไม่รายงานละเอียดของการตาย หรือการฆ่าตัวตาย และในท้ายของการรายงานก็จะต้องมีการอ้างอิงถึงสายด่วนสุขภาพจิตด้วย เพื่อให้ผู้คนที่กำลังมีปัญหาจะได้รู้สึกว่าอยากจะแก้ไขมันมากกว่าที่จะเลียนแบบสิ่งที่เห็นในข่าว

     6. ผู้ชายมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้สำเร็จสูงกว่าผู้หญิง

              ในขณะที่มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่าที่พยายามฆ่าตัวตาย แต่จำนวนของผู้ชายที่ฆ่าตัวตายสำเร็จกลับมีมากกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า และมีการพบว่ามากกว่าครึ่งของผู้ที่ฆ่าตัวตายนั้นมักใช้อาวุธปืน ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้ชายส่วนใหญ่ใช้ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายนั้นจะใช้วิธีกินยาเกินขนาดซึ่งจะเสียชีวิตน้อยกว่าหากรักษาได้ทันท่วงที

              ผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นเป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับความรัก ความเข้าใจ และการดูแลที่ดีจากคนใกล้ชิด ผู้ป่วยจะอาการดีขึ้นได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคนรอบข้าง ถ้าเราคอยให้กำลังใจอยู่เสมอ ร่วมกับการรักษาอย่างถูกวิธี รับรองว่าผู้ป่วยจะสามารถหายจากโรคนี้ได้อย่างแน่นอนค่ะ 

ไม่มีความคิดเห็น: